โซเดียมภัยร้ายที่มากับอาหารมื้อโปรด!!
โซเดียม เป็นเกลือแร่/แร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกายและเป็นส่วนผสมหนึ่งของเกลือ เป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อร่างกายอย่างหนึ่ง โดยทำหน้าที่รักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ และยังช่วยในการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ (รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจด้วย) ตลอดจนรวมถึงดูดซึมสารอาหารบางอย่างในไตและลำไส้เล็ก เรียกว่ามีประโยชน์ต่อระบบในร่างกายการทำงานของเราเป็นอย่างมาก แต่ในทางกลับกัน หากบริโภคโซเดียมที่มากเกินความจำเป็นจากประโยชน์ของมันก็ก่อให้เกิดเป็นภัยทำลายสุขภาพได้เช่นกัน
ในทางวิชาการมีการกำหนดปริมาณที่ร่างกายควรได้รับโซเดียมต่อวันอยู่ที่ 2,400 มิลลิกรัมเข้าใจง่ายๆ ว่า ปริมาณโซเดียม 2,400 มิลลิกรัม จะเทียบเท่ากับเกลือโดยประมาณ 1 ช้อนชา แต่โดยทั่วไปแต่ละวัน เราไม่ได้บริโภคเกลือต่อวัน 1 ช้อนชา แต่เราจะได้รับสารอาหารประเภทโซเดียมเข้าสู่ร่างกายผ่านทางการปรุงรสอาหาร เช่น เติมน้ำปลาในอาหารที่เรารับประทาน ซึ่งน้ำปลา 1 ช้อนชา มีค่าเท่ากับโซเดียมประมาณ 500 มิลลิกรัม และหากเราเติมน้ำปลา 3 ช้อนชา ก็เท่ากับว่าร่างกายได้รับโซเดียมแล้วถึง 1,500 มิลลิกรัม นอกจากจะเป็นส่วนผสมในอาหารที่ปรุงรับประทานเพื่อเพิ่มรสชาติความเค็มแล้ว โซเดียมยังเป็นส่วนผสมในอาหารแปรรูป อาหารหมักดองต่างๆ อาหารกระป๋อง และเครื่องดื่มแปรรูป
จากการศึกษาคนไทยบริโภคโซเดียมในปริมาณมากกว่าความต้องการของร่างกายถึง 2 เท่าต่อวัน ทำให้การทำงานของไตเสื่อมลง และทำให้เพิ่มอัตราความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคไต ความดันโลหิตสูง กระดูกพรุน มะเร็ง เป็นต้น
ภัยร้ายจากการรับโซเดียมที่มีปริมาณมากเกินไป
1.โรคความดันโลหิตสูง ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง 10,000,000 คน นับเป็นตัวเลขที่สูงพอสมควร โดยปกติร่างกายจะขับโซเดียมออกมาทางไต แต่หากว่ารับมามาก ขับไม่หมด ไตก็ทำงานหนัก ทำให้ขับโซเดียมได้น้อยลง จนนำไปสู่ความดันโลหิตสูงถาวร ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต
2.ไตวายเรื้อรัง เมื่อความดันโลหิตสูง ก็ส่งผลต่ออวัยวะอื่นๆ โดยเฉพาะไต ซึ่งปัจจุบันคนไทย ป่วยเป็นโรคไต 7,000,000 คน ไตวายเรื้อรัง ต้องไปล้างไตสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ค่าใช้จ่ายในการรักษาก็สูง หรือบางทีอาจถึงต้องผ่าตัดเปลี่ยนไตใหม่
3.หัวใจวาย หัวใจขาดเลือด คนไทยป่วยเป็นโรคหัวใจ 750,000 คนและเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาต 500,000 คน ซึ่งเมื่อความดันโลหิตสูง ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้ยังมี โรคกระดูกพรุน โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร และโรคหอบหืด ที่หลายคนนึกไม่ถึงว่าจะเกี่ยวข้องกับการบริโภคโซเดียมที่มากเกินไป แต่แท้จริงแล้วล้วนมีผลกระทบต่อร่างกายสุขภาพแทบทั้งสิ้น
ดังนั้น การบริโภคอาหารในแต่ละมื้อควรจำเป็นที่จะต้องสังเกตุอาหารในแต่ละประเภททุกครั้ง และควรอ่านบรรจุภัณฑ์บนฉลากของอาหารในกรณีที่มี เพื่อหลีกเลี่ยง การบริโภคโซเดียมที่มากเกินปริมาณความจำเป็นที่ร่างกายต้องการ
ขอขอบคุณข้อมูลสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัย มหิดล และ สสส.